Language:

ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี



อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาโบราณสถานที่ทรงคุณค่า มีอายุกว่า 800 ปี ได้เห็นถึงอิทธิพลของขอมในอดีต และเรียนรู้ความเป็นมาจากสถาปัตยกรรมการสร้างปราสาทขอม

ปราสาทเมืองสิงห์ ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค แต่ก่อนเคยเป็นเมืองสิงห์ มีผังเมืองเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส อยู่บนที่ราบริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำแควน้อย พื้นที่ประมาณ 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง 880 เมตร มีประตูเข้าออกทั้ง 4 ด้าน บริเวณด้านนอกกำแพงเมืองสามด้าน (ด้านตะวันตก เหนือ และตะวันออก) มีคูน้ำคันดินกั้นเป็นกรอบล้อมรอบอีก 7 ชั้น ส่วนทางด้านทิศใต้ กำแพงเมืองคดโค้งไปตามแนวลำน้ำแควน้อย ที่เป็นปราการธรรมชาติ

ภายในอุทยานได้แบ่งพื้นที่เข้าชมโบราณสถานเป็นส่วนๆ มีทั้งการจัดแสดงภายในอาคาร และซากโบราณสถานทั้ง 4 แห่ง

พิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุ
เป็นอาคารสำหรับเก็บ และจัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถาน เพื่อให้ได้ศึกษา เรียนรู้ เช่นภาชนะดิน เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับที่ทำด้วยหินและแก้ว รวมทั้งโครงกระดูก ที่ขุดค้นได้ทางโบราณคดี ที่มีอายุกว่า 2000 ปี

เขตซากโบราณสถานที่เป็นสถานที่จริง
โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในอุทยาน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของตัวเมือง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น มีร่องรอยของกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีชานชาลาศิลาแลงรูปกากบาท ก่อนเดินขึ้นบันไดสู่ผ่านเข้าซุ้มประตูขนาดใหญ่ ที่เรียกวัน "โคปุระ" ซุ้มประตูมีอยู่ทั้ง 4 ทิศ เชื่อมต่อกันด้วยทางเชื่อมที่ก่อเป็นผนังสองด้าน มีหลังคาทำจากศิลาแลงคลุมโดยรอบ เรียกว่า "ระเบียงคด" สันหลังคาประดับด้วยบราลี

เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปส่วนในสุด จะเป็นบริเวณสำหรับประกอบพิธีกรรม มีปรางค์ประธานเป็นศูนย์กลาง ยังคงเห็นเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม 20 ส่วนยอดพังทลายหายไปแล้ว ภายในประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในภาคที่เรียกว่า "เปล่งรัศมี" คือ มีพระกร 8 กร (พระกรทั้งหมดได้หักหมดแล้ว) ถัดไปทางบริเวณซุ้มประตูโคปุระด้านหลังของปรางค์ประธาน มีรูปเคารพพระนางปรัชญาปารมิตา นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ ปรางค์ประธานยังมีมีอาคารเล็กๆ ที่เรียกว่า "บรรณาลัย" หรือเป็นที่เก็บคัมภีร์ของพุทธศาสนาในสมัยนั้น

โบราณสถานหมายเลข 2 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมายเลข 1 ไม่ไกลกันนัก ก่อด้วยศิลาแลง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น มีรูปแบบคล้ายกับโบราณสถานหมายเลข 1 คือตัวปราสาทล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกัน 2 ชั้น ภายในมีปรางค์ประธาน 1 องค์ มีโคปุระ 4 ทิศ เชื่อมต่อด้วยระเบียงคด ส่วนที่หลงเหลือให้เห็นในส่วนที่ประกอบพิธีคือแท่นฐานปฏิมากรรมที่วางเรียงอยู่ในแนวของระเบียงคด

โบราณสถานหมายเลข 3 อยู่นอกกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมายเลข 1 มีร่องรอยให้เห็นว่ามีฐานขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง มุมทั้ง 4 ของโบราณสถานมีแผ่นหินปักไว้ คล้ายกับจะเป็นใบเสมา

โบราณสถานหมายเลข 4 อยู่ทางทิศตะวันตก ของหมายเลข 1 เป็นอาคารฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายเรือนแถว 4 ห้อง

ข้อมูลเพิ่มเติม
ปราสาทเมืองสิงห์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนสามารถเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530

 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทเมืองสิงห์
ปราสาทเมืองสิงห์ ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงอิทธิพลของขอมที่แผ่กระจายออกไปไกลที่สุด ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย จากรูปแบบของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน พบได้ว่าเป็นศิลปะแบบบายนในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของขอม ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.1720 - 1780) หรือเมื่อ 800 กว่าปีมาแล้ว ปราสาทเมืองสิงห์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสถานทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน สามารถดูได้จากศิลปกรรมรูปเคารพสำคัญที่พบในภายในตัวปราสาท ที่เรียกว่า พระรัตนตรัยมหายาน ได้แก่พระพุทธรูปนาคปรกอยู่ตรงกลาง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่เบื้องขวา และพระนางปรัชญาปารมิตาอยู่เบื้องซ้าย

สิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์​ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น มีห้องสุขาสำหรับคนพิการ ทำเป็นทางลาด เป็นต้น มีการใช้ระบบเดินชมแบบพึ่งพาตนเอง มีป้ายแสดงข้อความอธิบายโบราณสถานแต่ละจุด มีห้องนิทรรศการสำหรับแสดงศิลปวัตถุโบราณที่พบ

ค่าธรรมเนียมการเข้าชม
- สำหรับชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
- ค่าธรรมเนียมรถโดยสารรถยนต์คันละ 50 บาท จักรยานยนต์คันละ 20 บาท และจักรยานคันละ 10 บาท
* ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับภิกษุ สามเณร นักเรียน นิสิต นักศึกษาในเครื่องแบบ และผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
** เปิดให้เข้าชมฟรีในวันเด็กแห่งชาติ วันอนุรักษ์มรดกไทย (2 เมษายน) และวันเข้าพรรษา

 

- อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.30 น.
- ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร 034-528-456-7

การเดินทางไปปราสาทเมืองสิงห์
ตัวเมืองกาญจนบุรี - ปราสาทเมืองสิงห์ 45 กิโลเมตร
ปราสาทเมืองสิงห์ - ถ้ำกระแซ(ทางรถไฟสายมรณะ) 22 กิโลเมตร

- จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งบนถนนแสงชูโตที่เป็นถนนสายหลัก ถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายอำเภอไทรโยค - ทองผาภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 323) ประมาณ 25 กิโลเมตร ผ่านร้านบ้านกาแฟ ปั๊มน้ำมันบางจาก
- ถึงทางแยก เลี้ยวซ้ายตามป้าย (มีป้ายบอกทางไปอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์) เข้าถนนหมายเลข 3455 สุดทางเจออีกสามแยก เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 50 เมตร จะเห็นทางเข้าปราสาทเมืองสิงห์อยู่ทางขวา

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :1234
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ไม่มีสถานที่ใกล้เคียง
ร้านอาหารใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 9.7 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านครัวผักหวานบ้าน สาขา 1 เป็นร้านที่นำผักพื้นบ้าน อย่างผักหวานมาดัดแปลง ปรุงแต่งในอาหารแต่ละเมนูได้อย่างลงตัว ทำให้เกิดเป็นอาหารที่หลากหลาย ต่างไปจากเดิมๆ ได้รสชาติอร่อย แถมยังได้สุขภาพดีที่ได้กินผักใบเขียวอีกด้วย ตั้งอยู่ริมถนนสายหลักที่ไปยังน้ำตกไทรโยค และที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในอำเภอทองผาภูมิ และสังขละบุรี
ขอบคุณรูปภาพจาก:
คุณ Blowfist (Pantip)
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com