Language:

สะพานมอญ กาญจนบุรี



สะพานมอญ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์​ เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปยังหมู่บ้านมอญ ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า และเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี เป็นสะพานแห่งศรัทธา ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรี ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญในแถบนี้ สิ่งที่ห้ามพลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กับสะพานที่เสมือนเป็นสายใยวัฒนธรรมของชาวมอญและไทยในดินแดนสุดขอบประเทศแห่งนี้

การเที่ยวชมสะพานมอญ ควรแวะเดินชมตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะช่วงเวลา 6.00 - 7.00 น. เป็นช่วงที่ได้เห็นวิถีชีวิตชาวมอญ ใส่บาตรพระทุกเช้า หากนักท่องเที่ยวต้องการใส่บาตร ก็มีอาหารขายบริเวณหมู่บ้านมอญ สายๆ หากเดินข้ามฝั่งไปยังหมู่บ้านมอญ ก็สามารถเที่ยวชมบ้านเรือนในแบบชาวมอญ ซื้อของที่ระลึก หรือจะแวะชิมขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย ที่เป็นอาหารพื้นบ้านชาวมอญก็ได้

วิถีชีวิตชาวมอญที่พบเห็นได้บริเวณสะพานมอญ และหมู่บ้านมอญ
เมื่อความเจริญค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่หมู่บ้านมอญ การเดินทางมีความสะดวกสบายขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ทำให้วิถีชีวิตชาวมอญเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แทรกซึมเข้ามาสู่ชุมชน แต่ก็ยังได้เห็นกลิ่นไอความเป็นมอญบางอย่างหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ละครอบครัวในหมู่บ้านมอญ ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาว จะเข้าไปรับจ้างทำงานในตัวเมือง เราจึงมักเห็นการดำเนินชีวิตประจำวันแบบมอญของเด็กๆ และผู้สูงวัย มากกว่าวัยรุ่น

นักท่องเที่ยวที่มาสังขละบุรีจึงอาจจะได้เห็นลักษณะความเป็นมอญบางอย่างที่หลงเหลืองอยู่
- กิจวัตรประจำวันของชาวมอญที่นักท่องเที่ยวสนใจกันเป็นอย่างมาก คือการใส่บาตรในช่วงเช้า โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะตื่นแต่เช้า นำขันใส่ข้าวสวยมานั่งรอบนพื้นถนนเป็นแถว เพื่อรอพระมาบิณฑบาตร ชาวบ้านมักจะใส่บาตรด้วยข้าวสวย และดอกไม้ และกราบพระลงกับพื้นถนน ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจสำหรับนักท่องเที่ยว หากใครต้องการใส่บาตร ก็สามารถร่วมใส่บาตรตอนเช้ากับชาวมอญได้ เพราะมีชุดสำหรับใส่บาตรจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวด้วย
- จะได้เห็นวัฒนธรรมการเทินของไว้บนหัวของชาวมอญ ซึ่งบางคนยังคงนิยมเทินสิ่งของไว้บนหัว แทนการห้วสัมภาระมากมาย บางคนสามารถเทินของได้สูงๆ หรือหนักมากๆ แล้วยังสามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว
- ได้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมอญ สังเกตได้จากการแต่งกายโดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น หรือผ้าถุง เสื้อแขนกระบอกสามส่วน มีผ้าแถบยาวเหมือนสไบพาดไว้ที่บ่า ผมรวมมัดเป็นมวยไว้ด้านหลัง ผู้ชายนิยมนุ่งโสร่ง บนใบหน้าของหญิงชายชาวมอญ รวมถึงเด็กๆ นิยมทาแป้งทานาคา ที่มีสีออกเหลืองนวลๆ ฉาบไว้ที่ใบหน้า (แป้งทานาคาทำจากท่อนไม้ต้นทานาคาฝนกับแป้นหินทราย ทาบนหน้าแล้วเกลี่ยด้วยแปรง)
- บางทีจะได้เห็นแม่ชีชาวมอญ เดินขอรับบริจาค โดยสวมผ้าคลุมแบบชาวมอญ เป็นผ้าคลุมสีชมพูคลุมทับผ้าชั้นในออกสีส้มเหมือนสีจีวรพระ มีสไบพาดสีเดียวกับผ้าชั้นใน ถือร่มไม้
- ในหน้าร้อน บริเวณสะพานมอญ เหมือนเป็นสวนน้ำสำหรับเด็กๆ จะมีเด็ก มาเล่นน้ำใสๆ ในแม่น้ำซองกาเลีย และกระโดดน้ำจากสะพานมอญ
- เดิมบ้านของชาวมอญมักปลูกสร้างด้วยไม้กระดาน หรือเป็นไม้ไผ่สานขัดแตะ ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นสร้างด้วยปูนบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีบางบ้านที่ยังคงสภาพเดิมๆ ไว้ ให้เห็นถึงความเป็นบ้านมอญ ถ้าสังเกตดีๆ บ้านมอญมักจะมีผนังด้านหนึ่ง ทำเป็นเหมือนส่วนเกินยื่นออกมาคล้ายมุขหน้าต่าง นูนเป็นกล่องตรงผนังบ้าน มุขที่ว่านี้ก็คือ ห้องพระ หรือหิ้งพระของบ้าน บางบ้านจะตกแต่งส่วนของมุขนี้ไว้อย่างสวยงาม

ก่อนที่จะมีการสร้างสะพานมอญ ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย ใช้สะพานที่เรียกว่า "สะพานบาทเดียว" โดยใช้ไม้ไผ่ต่อเป็นแพ แล้วมีคนคอยลากให้มาเชื่อมต่อกันไปมา โดยเก็บเงินข้ามฟากครั้งละ 1 บาท ต่อมาหลวงพ่ออุตตมะได้ริเริ่มสร้างสะพานไม้นี้ขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านเดินทางข้ามแม่น้ำได้สะดวกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย วิธีการสร้าง และขั้นตอนการสร้าง ไม่ได้ใช้เครื่องจักรใดๆ ใช้เพียงอุปกรณ์พื้นบ้าน และแรงงานชาวบ้านที่ศรัทธาต่อหลวงพ่อสมัครใจมาช่วยกันลำเลียงวัสดุ ผูกยึด ตอไม้ เสา และกระดานไม้ สะพานไม้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2529 - 2530 มีความยาวทั้งสิ้น 850 เมตร ข้ามแม่น้ำซองกาเลียระยะทางประมาณ 455 เมตร

 

วัสดุทั้งหมดล้วนทำด้วยไม้ ส่วนใหญ่จะใช้ไม้เนื้อแข็ง พวกไม้แดง เพราะมีความทนทาน ไม้ที่ได้ ส่วนหนึ่งนำมาจากต้นไม้ที่ยืนต้นจมอยู่เหนือเขื่อน ราวสะพาน และพื้นสะพาน ใช้ไม้กระดานที่ตัดเป็นท่อนๆ ขนาดหน้ากว้างไม่มาก นำมาต่อกัน ตัวสะพานใช้เสา 60 ต้น ตรงช่วงกลาง เสาห่าง 10 ศอก เพื่อให้เรือสัญจรไปมาได้ สะพานที่สร้างเสร็จเชื่อมต่อหมู่ 2 กับหมู่ 3 ของตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี สะพานไม้นี้จึงมีความหมายกับคนมอญเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่สะพานเชื่อมหมู่บ้านสองฝั่งแม่น้ำ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพลังศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะ เป็นสะพานมิตรภาพ ความสมานฉันท์ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันทั้งชาวไทยและชาวมอญในสังขละบุรี

สะพานมอญได้รับการซ่อมแซมดูแลเพื่อให้มีความปลอดภัยตลอดมา ครั้งล่าสุดได้รับการซ่อมแซมเป็นครั้งที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2554 และได้ติดเสาไฟรูปหงส์เพิ่มเติม ซึ่งหงส์ถือเป็นสัญลักษณ​​์ของมอญ เหมือนกับรูปหงส์สีทองที่อยู่ในธงประจำชาติมอญ

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เกิดมีมรสุมทำให้ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จนเกิดน้ำป่าไหลหลากมาจากทุ่งใหญ่นเรศวร พัดขยะและเศษไม้ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย ไหลมาตามลำน้ำ แล้วปะทะกับเข้ากับสะพานมอญ จนทำให้สะพานพังไปประมาณ 30 - 70 เมตร พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ได้ดูแลให้ชาวบ้านหาไม้ไผ่มาคนละลำ ด้วยคำว่า "หนึ่งคน หนึ่งลำ" เพื่อให้มาช่วยกันทำแพลูกบวบ ซึ่งเป็นแพที่นำลำไม้ไผ่มามัดต่อกันเป็นแพบนบนผิวน้ำ ใช้เป็นสะพานชั่วคราวแทนสะพานที่กำลังซ่อม ซึ่งการซ่อมแซมสะพานมอญนี้ก็จะคงสภาพความเป็นสะพานไม้ไว้เหมือนเดิม และใช้วิธีการตามวิถีชาวบ้าน ไม่ได้ใช้เครื่องจักรใดๆ เพื่อรักษาคุณค่าของสะพานไม้ไว้ต่อไป

แพลูกบวบที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางชั่วคราว มีความกว้าง 6 เมตร มีความยาวประมาณ​ 300 เมตร ตามความกว้างของลำน้ำ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน แพนี้สร้างขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 6 วัน และกลายเป็นจุดดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเป็นอันมาก เพราะทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนได้เดินบนผิวน้ำแม่น้ำซองกาเลีย บริเวณตอนกลางของแพลูกบวบจะทำเป็นสะพานไม้ยกสูงเพื่อให้เรือลอดผ่านไปได้ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เรียบง่าย และยังคงความเป็นบรรยากาศแบบธรรมชาติไว้ด้วย

มอญคือใคร?
มอญ หรือ รามัญ เป็นหนึ่งในชนชาติที่เก่าแก่ และมีอารยธรรมที่รุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่งในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นชนชาติที่เคยมีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณตอนล่างของประเทศพม่า ในอดีตเมืองหงสาวดีก็เป็นเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ของมอญ ต่อมาถูกพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กษัตริย์พม่าเข้าตี และยึดหงสาวดีไปเป็นของพม่า ชาวมอญได้ถูกพม่ากดขี่ข่มเหง เพื่อต้องการทำลายชาติพันธุ์ของมอญให้สิ้นไป มอญจึงต้องสู้รบกับพม่าตลอดมา และได้อพยพเข้ามาพึ่งกษัตริย์ไทยหลายต่อหลายครั้ง
มอญได้เข้ามาอยู่ในไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในพม่าได้เกิดกบฎชาวมอญ ต่อสู้กับพม่า จนพ่ายแพ้และถูกพม่าปราบปราม จึงเป็นช่วงที่มีมอญหนีตายเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด ครั้งนั้นรัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ปากเกร็ด พระประแดง มอญที่อพยพเข้ามาในครั้งอื่นๆ ได้กระจัดกระจายอยู่ในไทย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคกลาง โดยเฉพาะนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และมีบางส่วนอยู่ทางภาคเหนือ

ชาติมอญมีหงส์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ และปรากฏอยู่ในธงชาติมอญที่มีพื้นสีแดง มีหงส์สีทองอยู่ตรงกลาง โดยชาวมอญมีความเชื่อในตำนานเรื่องหงส์นี้ว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงที่ที่เป็นที่ตั้งเมืองหงสาวดี พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นหงส์ 2 ตัว ว่ายน้ำขึ้นไปบนเกาะเล็กๆ ที่มีพื้นที่สำหรับหงส์แค่ตัวเดียว หงส์ตัวเมียจึงขึ้นไปยืนเกาะอยู่บนหลังหงส์ตัวผู้ พระองค์จึงทรงมีพุทธทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้า แผ่นดินแห่งนี้จะกลายเป็นมหานคร ชื่อหงสาวดี เป็นที่ที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองที่เมืองหงสาวดีสืบไป ตำนานการสร้างเมืองของอาณาจักรมอญจึงเริ่มขึ้นที่หงสาวดี และหงส์จึงเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี และชนชาติมอญ

ปัจจุบัน ชาวมอญเป็นกลายชนกลุ่มน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนประเทศ เช่นเดียวกับกะเหรี่ยง ถึงมอญจะเป็นชนชาติที่สิ้นแผ่นดิน แต่ชาวมอญก็ไม่ยอมสิ้นชาติ แม้ชาวมอญจะถูกกลืนไปกับชาวพม่า และชาวไทย แต่วัฒนธรรมมอญที่เคยมีอิทธิพลเหนือชนชาติอื่นในอดีต ก็ยังคงมีให้เห็นปะปนอยู่ ประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากมอญหลายอย่าง เช่นวัฒนธรรมทางด้านดนตรี มีปี่พาทย์มอญ และ เพลงไทยบรรเลง เช่น มอญร้องไห้ มอญนกขมิ้น เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้สะพานมอญ
- ตลาดวัดวังก์ อยู่ห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร
เดินข้ามสะพานมอญไป แล้วเดินผ่านหมู่บ้านชาวมอญ จนถึงถนนเส้นหลัก ข้ามถนนไปตลาดอยู่เยื้องๆ ไปทางซ้ายมือ
- วัดวังก์วิเวการาม อยู่ห่างไปประมาณ 2.7 กิโลเมตร
- เจดีย์พุทธคยา อยู่ห่างไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร

 

ข้อแนะนำ
- นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมวิว และสัมผัสอากาศเย็นในช่วงเข้าฤดูหนาว ประมาณเดือน พฤศจิกายน-มกราคม ตอนเช้าจะได้สัมผัสไอหมอกที่ปกคลุมบนท้องน้ำและยอดเขา
- การเที่ยวชมสะพานไม้มอญ มักจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็น และหัวค่ำ ช่วงกลางวันแดดค่อนข้างร้อน
- หากต้องการร่วมใส่บาตรบริเวณสะพานไม้มอญ ควรไปถึงบริเวณสะพานก่อน 6.00 น. การใส่บาตรจะอยู่ฝั่งหมู่บ้านมอญ มีร้านค้าจำหน่ายของใส่บาตรไว้เป็นชุดๆ จำหน่ายชุดละ 99 บาท (สามารถโทรติดต่อสอบถาม หรือสั่งจองได้ที่ ร้านป้าหยิน โทร. 08-1792-4244, 09-0794-2448)
- บริเวณสะพานมอญ (ฝั่งหมู่บ้านมอญ) มีที่บริการจอดรถ เลี้ยวเข้าซอยสะพานไม้ สุดซอยซ้ายมือมีที่จอดรถแบบเก็บค่าบริการ (20 บาท)

การเดินทางไปสะพานมอญ
สะพานมอญมีสองฝั่ง ฝั่งนึงอยู่ห่างจากตัวเมืองสังขละบุรีไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร หากขับรถไปฝั่งหมู่บ้านมอญระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

รถยนต์
กรุงเทพฯ - อำเภอสังขละบุรี 360 กิโลเมตร
ตัวจังหวัดกาญจนบุรี - อำเภอสังขละบุรี 215 กิโลเมตร
อำเภอทองผาภูมิ - อำเภอสังขละบุรี 75 กิโลเมตร
ตัวอำเภอสังขละบุรี - สะพานมอญ 5 กิโลเมตร

- จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งบนถนนแสงชูโตที่เป็นถนนสายหลัก ถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายอำเภอไทรโยค - ทองผาภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 323)
- ก่อนเข้าตัวอำเภอทองผาภูมิ มีสามแยก เลี้ยวขวาไปทางอำเภอสังขละบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) ผ่านวัดท่าขนุน ป้อมปี่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม สะพานข้ามแม่น้ำรันตี
- ก่อนเข้าตัวอำเภอสังขละบุรีมีทางแยก ตรงไปทางอำเภอสังขละบุรี (จะมีป้ายบอกเป็นทางไปวัดวังก์วิเวการาม) วิ่งผ่านตัวอำเภอสังขละบุรี ข้ามสะพานซองกาเลีย แล้วจึงจะมีป้ายบอกเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสะพานไม้ สุดซอยจะเป็นสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) สุดซอยซ้ายมือจะมีที่สำหรับจอดรถแบบเสียค่าจอด (ประมาณ 20 บาท)

รถประจำทาง
1.นั่งรถทัวร์ กรุงเทพฯ - ด่านเจดีย์สามองค์ จากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 มี 4 เที่ยว คือ
รถปอ. 1 เวลา 5.00 น. และ 6.00 น. ราคา 293 บาท
รถปอ. 2 เวลา 9.30 น. และ 12.30 น. ราคา 228 บาท
รถทัวร์ขากลับ ด่านเจดีย์สามองค์ - กรุงเทพฯ​
รถปอ. 1 เวลา 13.30 น. และ 14.30 น. ราคา 293 บาท
รถปอ. 2 เวลา 7.00 น. และ 10.00 น. ราคา 228 บาท
** บอกคนขับว่าต้องการลงสังขละบุรี รถจะไปจอดให้ที่ตลาดสังขละ จากนั้นเดินต่อ หรือเหมารถไปสะพานมอญ

2.นั่งรถทัวร์ หรือรถตู้ กรุงเทพฯ - กาญจนบุรี จากสายใต้ หรือหมอชิต แล้วต่อรถที่ขนส่งกาญจนบุรี ไปสังขละบุรี จากนั้นเดินต่อ หรือเหมารถไปสะพานมอญ

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว Pantip :12345
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 1.5 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
วัดวังก์วิเวการาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ" นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรีแล้ว ยังเป็นวัดที่ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับคนพื้นถิ่น และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี ทั้งชาวไทย และกะเหรี่ยง โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่เปรียบหลวงพ่ออุตตมะเป็น "เทพเจ้าแห่งชาวมอญ" วัดวังก์วิเวการาม จึงเกิดจากพลังศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อ และเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" วัดจึงเป็นเสมือนตัวแทนหลวงพ่อ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมอญ ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของมอญ และจัดงานอื่นๆ เช่นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ มีงานกิจกรรมต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนา งานแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และมีการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ
ห่างออกไป ประมาณ: 1.9 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
พระเจดีย์พุทธคยา เป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่กับวัดวังก์วิเวการาม เป็นเจดีย์องค์ใหญ่นี้ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ มีสีเหลืองทอง สามารถมองเห็นได้จากแม่น้ำซองกาเลีย ภายในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงเป็นเจดีย์ที่มีผู้คนมาสักการะ บูชาองค์เจดีย์ที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เจดีย์พุทธคยายังเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีในวันสำคัญทางพุทธศาสนาและงานเทศกาลเช่น งานวันสงกรานต์ เจดีย์พุทธคยา ตั้งขึ้นอยู่สังขละบุรี (ไม่ไกลจากวัดวังก์วิเวการาม ห่างไปประมาณ 650 เมตร)
ห่างออกไป ประมาณ: 2 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
วัดใต้น้ำ หรือวัดจมน้ำ คือวัดวังก์วิเวการามเดิม ซึ่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็น Unseen Thailand เพราะมีความแปลกที่มีซากโบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ เป็นสถานที่เล่าขานถึงตำนานความเป็นมาของวัดหลวงพ่ออุตตมะ จนหลายคนเรียกกันว่าเมืองบาดาล นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน เป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำหลังเขื่อนลดลงมาก จะสามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์เก่าได้ ณ บริเวณสามประสบ ส่วนคนที่มาเที่ยวช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่ประมาณตุลาคม - มกราคม อาจจะได้เห็นแค่บางส่วนของตัวโบสถ์ที่โผล่พ้นน้ำ หรือบางทีก็จมน้ำเป็นเมืองบาดาล จะมีให้เห็นก็เพียงแต่ยอดหอระฆังเดิมเท่านั้นที่สูงพ้นน้ำ
ร้านอาหารใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 0.2 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
แพมิตรสัมพันธ์ เป็นร้านอาหารในสังขละบุรีที่หลายต่อหลายคนพูดถึง ทั้งรสชาติความอร่อย ราคาอาหารไม่แพง และได้บรรยากาศสดชื่นริมน้ำ เพราะร้านตั้งอยู่ในแพลอยน้ำบริเวณแม่น้ำซองกาเลีย ได้เห็นวิวทิวทัศน์แม่น้ำ และสะพานไม้มอญ
ห่างออกไป ประมาณ: 0.5 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านป้าหยิน เป็นร้านอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวสะพานมอญเห็นแล้ว ต่างอดไม่ได้ที่จะต้องแวะเข้าไปชิม เพราะนอกจากจะได้รู้เขารู้เรา ว่าอาหารพื้นบ้านมอญเป็นยังไง รสชาติขนมจีนหยวกกล้วยของป้าหยินยังถูกปาก ติดใจหลายต่อหลายอีกคนด้วย
ห่างออกไป ประมาณ: 0.6 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านคอฟฟี่เบอรี่ เป็นร้านกาแฟที่ตกแต่งแบบมีมุมสวยๆ เอาใจคนชอบถ่ายรูป (โดยเฉพาะสาวๆ) ให้ได้กิ้วก๊าวกับร้านสไตล์เก๋ๆ ไม่เหมือนใคร เหมาะกับการนั่งจิบกาแฟ และเครืองดื่มเย็นๆ กินขนมหวาน ก่อนไปเดินเที่ยวต่อ ร้านคอฟฟี่เบอรี่ เป็นร้านกาแฟเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอสังขละบุรีนัก
ห่างออกไป ประมาณ: 1.2 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านอาหารศรีแดง เป็นร้านอาหารเก่าแก่ที่สุด และเป็นร้านอาหารร้านแรกของอำเภอสังขละบุรีเลยก็ว่าได้ เป็นร้านที่อยู่ในตัวอำเภอสังขละ สะดวกสำหรับคนที่พักบริเวณตัวอำเภอ ถึงแม้ว่าร้านศรีแดงจะไม่ได้ติดริมน้ำ หรือมีวิวสวยๆ ให้ชม แต่รสชาติอาหารที่อร่อย ก็ดึงดูดลูกค้าให้แวะเวียนกันมาทั้งกลางวันและกลางคืน
ขอบคุณรูปภาพจาก:
คุณ คนหัวฟู (Pantip), คุณ the Sixth Floor (Pantip)
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com