Language:

เจดีย์พุทธคยา กาญจนบุรี



พระเจดีย์พุทธคยา เป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่กับวัดวังก์วิเวการาม เป็นเจดีย์องค์ใหญ่นี้ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ มีสีเหลืองทอง สามารถมองเห็นได้จากแม่น้ำซองกาเลีย ภายในองค์เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงเป็นเจดีย์ที่มีผู้คนมาสักการะ บูชาองค์เจดีย์ที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เจดีย์พุทธคยายังเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีในวันสำคัญทางพุทธศาสนาและงานเทศกาลเช่น งานวันสงกรานต์

เจดีย์พุทธคยา ตั้งขึ้นอยู่ไม่ไกลจากวัดวังก์วิเวการาม ห่างไปประมาณ 650 เมตร เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 ริเริ่มโดยหลวงพ่ออุตตมะ ด้วยความตั้งใจของหลวงพ่อที่จะจำลองจากเจดีย์พุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในประเทศอินเดีย มาไว้เป็นศูนย์กลางสำหรับชาวพุทธที่อยู่รวมกันได้โดยไม่แยกเชื้อชาติ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด ได้รับจากเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใส ศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งบริจาคมาทั้งที่เป็น เงินสด ทองคำ และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ใช้แรงงานคนมอญทั้งผู้ชายและผู้หญิงในหมู่บ้านประมาณ ​400 คน ช่วยกันเผาอิฐมอญจำนวน 260,000 ก้อน ต่อมา พ.ศ. 2525 เจดีย์ได้ถูกเสริมให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

เจดีย์พุทธคยา มีขนาดเล็กกว่าเจดีย์พุทธคยาองค์จริงที่อินเดีย มีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาว 42 เมตร สูง 59 เมตร ทางเข้าไปยังเจดีย์ มีรูปปั้นสิงห์ คู่ใหญ่ เป็นศิลปะมอญ ที่เชื่อว่าจะคอยปกป้องเจดีย์อยู่สองข้างบันไดทางเข้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสิงห์คู่ของประเทศพม่า ถัดไปด้านในบริเวณรอบองค์เจดีย์ทำเป็นลักษณะเหมือนระเบียงคด สามารถเดินได้โดยรอบ ทางเดินมีหลังคาคลุม และรอบๆ องค์เจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูป และเทวดาประจำวันเกิด พื้นผิวองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นเหลี่ยมเว้าแหว่งเป็นช่อง โพรง คล้ายลายเรขาคณิต ภายในช่อง โพรง มีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ในพุทธลักษณะต่างๆ วางอยู่

บนยอดพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่หลวงพ่ออุตตมะอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา สีขาวอมเหลืองใส ขนาดเท่าเม็ดข้าวสารจำนวน 2 องค์ บรรจุในผะอบ 3 ชั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุ และประดิษฐานฉัตรทองคำแท้หนัก 400 บาทขึ้นบนยอดเจดีย์

ก่อนเข้าสู่ตัวเจดีย์พุทธคยา ด้านหน้าบริเวณใกล้กับลานจอดรถมีร้านขายของที่ระลึก ให้เลือกซื้อเป็นของขวัญของฝาก มีสินค้าหลายประเภท ทั้งสินค้าจากพม่า เช่นแป้งทานาคาจากพม่า ทั้งแบบตลับสำเร็จรูป และแบบท่อนไม้ทานาคากับแป้นฝน เครื่องประทินผิว เครื่องประดับ ผ้าพันคอ กระเป๋า ของประดับบ้าน และของที่ระลึกที่ทำจากไม้

ประเพณีสงกรานต์มอญที่สังขละบุรี
ในวันที่ 13-16 เมษายนของทุกปี มีการจัดประเพณีสงกรานต์มอญ บริเวณเจดีย์พุทธคยา ชาวมอญที่มางาน มักจะแต่งกายพิเศษตามเทศกาล เพื่อร่วมเฉลิมฉลองตามแบบมอญ ผู้หญิงใส่เสื้อผ้าสีสวยสด เสื้อแขนกระบอก ประดับลูกไม้ ท่อนล่างนุ่งผ้าถุงยาว ประดับเครื่องประดับมีค่า ผู้ชายใส่เสื้อขาว นุ่งผ้าโสร่งสีแดง หรือตาตาราง ในช่วงบ่ายวันสุดท้ายของวันสงกรานต์จะมีพิธีสรงน้ำพระ ชาวบ้านจะมาร่วมกันสรงน้ำ เริ่มจากสรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์ โดยอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำ และพระรูปหล่อหลวงพ่ออุตตมะ ออกมาให้ชาวบ้านได้สรงน้ำด้วย จากนั้นก็จะเป็นพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ เมื่อตัวแทนพระจำนวนหนึ่งออกมาจากเจดีย์ ผู้ชายชาวมอญไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ จะนอนเรียงกันเป็นทางเดินมนุษย์ เรียงยาวบนพื้นเพื่อรับพระที่ออกมาจากเจดีย์ไปยังที่สรงน้ำ พระจะเดินบนคนที่นอนเรียงกันนี้ไปจนถึงบริเวณสรงน้ำ ซึ่งถือเป็นประเพณีของมอญ ที่เชื่อว่าเป็นการสร้างความเป็นสิริมงคล

 

การสรงน้ำพระสงฆ์ ตามประเพณีมอญ จะสรงน้ำพระแบบอาบทั่วทั้งตัว มีการจัดสถานที่ โดยนำไม้ไผ่ผ่าครึ่งซีกตามยาวทำเป็นรางยาววางเรียงพาดต่อเป็นทอดๆ จากทุกทิศทุกทาง เพื่อให้น้ำไหลไปยังจุดสรงน้ำที่เดียวกัน คนที่ต้องการสรงน้ำพระจะตักน้ำรินใส่รางไม้ไผ่ เพื่อให้ไหลไปยังจุดสรงน้ำ ชาวบ้านจะช่วยกันอุ้มพระไว้เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำ เมื่อเสร็จพิธีการสรงน้ำพระแล้ว ชาวบ้านและผู้ที่มาร่วมงานสงกรานต์จึงจะเล่นสาดกันอย่างสนุกสนาน
รีวิว ประเพณีสงกรานต์ชาวมอญที่สังขละบุรี (Pantip)


การเดินทางไปยังเจดีย์พุทธคยา
การเดินทางเป็นเส้นทางเดียวกับการไปวัดวังก์วิเวการาม
- จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งบนถนนแสงชูโตที่เป็นถนนสายหลัก ถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายอำเภอไทรโยค - ทองผาภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 323)
- ก่อนเข้าตัวอำเภอทองผาภูมิ มีสามแยก เลี้ยวขวาไปทางอำเภอสังขละบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) จะผ่านวัดท่าขนุน ป้อมปี่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม สะพานข้ามแม่น้ำรันตี
- ก่อนเข้าตัวอำเภอสังขละบุรีมีทางแยก ตรงไปทางอำเภอสังขละบุรี (มีป้ายบอกเป็นทางไปวัดวังก์วิเวการาม) ผ่านตัวอำเภอสังขละบุรี ข้ามสะพานซองกาเลีย เลยทางไปสะพานไม้ไปเจอสามแยก เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 300 เมตร (ขวาไปวัดวังก์วิเวการาม)

ข้อมูลจากแหล่งอื่น และ รีวิว :1
Image
Gallery

แผนที่

แสดงร้านอาหารใกล้เคียง
สถานที่เที่ยวใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 0.6 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
วัดใต้น้ำ หรือวัดจมน้ำ คือวัดวังก์วิเวการามเดิม ซึ่งกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็น Unseen Thailand เพราะมีความแปลกที่มีซากโบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ เป็นสถานที่เล่าขานถึงตำนานความเป็นมาของวัดหลวงพ่ออุตตมะ จนหลายคนเรียกกันว่าเมืองบาดาล นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน เป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำหลังเขื่อนลดลงมาก จะสามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์เก่าได้ ณ บริเวณสามประสบ ส่วนคนที่มาเที่ยวช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่ประมาณตุลาคม - มกราคม อาจจะได้เห็นแค่บางส่วนของตัวโบสถ์ที่โผล่พ้นน้ำ หรือบางทีก็จมน้ำเป็นเมืองบาดาล จะมีให้เห็นก็เพียงแต่ยอดหอระฆังเดิมเท่านั้นที่สูงพ้นน้ำ
ห่างออกไป ประมาณ: 0.8 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
วัดวังก์วิเวการาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดหลวงพ่ออุตตมะ" นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรีแล้ว ยังเป็นวัดที่ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับคนพื้นถิ่น และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี ทั้งชาวไทย และกะเหรี่ยง โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่เปรียบหลวงพ่ออุตตมะเป็น "เทพเจ้าแห่งชาวมอญ" วัดวังก์วิเวการาม จึงเกิดจากพลังศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อ และเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" วัดจึงเป็นเสมือนตัวแทนหลวงพ่อ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมอญ ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของมอญ และจัดงานอื่นๆ เช่นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ มีงานกิจกรรมต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนา งานแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และมีการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ
ห่างออกไป ประมาณ: 1.9 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
สะพานมอญ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์​ เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปยังหมู่บ้านมอญ ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า และเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี เป็นสะพานแห่งศรัทธา ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรี ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญในแถบนี้ สิ่งที่ห้ามพลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กับสะพานที่เสมือนเป็นสายใยวัฒนธรรมของชาวมอญและไทยในดินแดนสุดขอบประเทศแห่งนี้
ร้านอาหารใกล้เคียง
ห่างออกไป ประมาณ: 1.4 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านป้าหยิน เป็นร้านอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวสะพานมอญเห็นแล้ว ต่างอดไม่ได้ที่จะต้องแวะเข้าไปชิม เพราะนอกจากจะได้รู้เขารู้เรา ว่าอาหารพื้นบ้านมอญเป็นยังไง รสชาติขนมจีนหยวกกล้วยของป้าหยินยังถูกปาก ติดใจหลายต่อหลายอีกคนด้วย
ห่างออกไป ประมาณ: 1.8 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
แพมิตรสัมพันธ์ เป็นร้านอาหารในสังขละบุรีที่หลายต่อหลายคนพูดถึง ทั้งรสชาติความอร่อย ราคาอาหารไม่แพง และได้บรรยากาศสดชื่นริมน้ำ เพราะร้านตั้งอยู่ในแพลอยน้ำบริเวณแม่น้ำซองกาเลีย ได้เห็นวิวทิวทัศน์แม่น้ำ และสะพานไม้มอญ
ห่างออกไป ประมาณ: 2.5 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านคอฟฟี่เบอรี่ เป็นร้านกาแฟที่ตกแต่งแบบมีมุมสวยๆ เอาใจคนชอบถ่ายรูป (โดยเฉพาะสาวๆ) ให้ได้กิ้วก๊าวกับร้านสไตล์เก๋ๆ ไม่เหมือนใคร เหมาะกับการนั่งจิบกาแฟ และเครืองดื่มเย็นๆ กินขนมหวาน ก่อนไปเดินเที่ยวต่อ ร้านคอฟฟี่เบอรี่ เป็นร้านกาแฟเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอสังขละบุรีนัก
ห่างออกไป ประมาณ: 3.1 กิโลเมตร
* วัดจากเส้นตรง ไม่ใช่เส้นถนน
ร้านอาหารศรีแดง เป็นร้านอาหารเก่าแก่ที่สุด และเป็นร้านอาหารร้านแรกของอำเภอสังขละบุรีเลยก็ว่าได้ เป็นร้านที่อยู่ในตัวอำเภอสังขละ สะดวกสำหรับคนที่พักบริเวณตัวอำเภอ ถึงแม้ว่าร้านศรีแดงจะไม่ได้ติดริมน้ำ หรือมีวิวสวยๆ ให้ชม แต่รสชาติอาหารที่อร่อย ก็ดึงดูดลูกค้าให้แวะเวียนกันมาทั้งกลางวันและกลางคืน
ขอบคุณรูปภาพจาก:
คุณ bike65 (Bloggang)
Tourism Authority of Thailand    Amazing Thailand     Pattaya Concierge     ChonHub     Kanchanaburi dot Co
Copyright © 2016 - 2024 | Ceediz.Com Contact: info@ceediz.com, info.ceediz@gmail.com